Tuesday, August 4, 2015

ขุดมาเล่า..พระยอดเมืองขวาง(6) วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 เกิดอะไรในสยาม? โดยพลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก





ความเดิมจากตอนที่แล้ว 13 กรกฎาคม 2436 (ร.ศ.112) เกิดวิกฤตการณ์ที่ปากน้ำ สมุทรปราการ สยามใช้ปืนใหญ่จากป้อมพระจุลจอมเกล้ายิงเรือรบฝรั่งเศสที่บุกรุกเข้ามาทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เป็นเหตุการณ์เชื่อมโยงกับการตัดสินคดีความที่ฝรั่งเศสตั้งธงว่าพระยอดเมืองขวางเป็นฆาตกรสังหารทหารฝรั่งเศสที่แก่งเจ็ก เมืองคำม่วน

ขอใช้แว่นขยายภาพให้ท่านผู้อ่านได้กระจ่างครับ ถ้าเราเอาแผนที่ของอุษาคเนย์มาแผ่กางออก ทางตะวันตกของสยาม อังกฤษเข้ายึดอินเดีย และตามด้วยการทำสงครามยึดพม่าเป็นเมืองขึ้นเบ็ดเสร็จ พม่าสู้รบอังกฤษแบบนองเลือดแผ่นดิน

ทางตะวันออกของสยาม ฝรั่งเศสมีกองเรือรบปักหลักอยู่ที่เมืองไซ่ง่อน (ปัจจุบันคือนครโฮจิมินห์) ใช้อำนาจกำลังรบ “เรือปืน” เข้าปกครองเวียดนามแบบหมดจด เกณฑ์พลเมืองเวียดนามมาเป็นทหารบก นำกำลังทหารญวนเพ่นพ่านออกสำรวจตรวจสอบดินแดนเพื่อขยายเขตปกครองทะลุเลยเข้ามาดินแดนลาว ซึ่งในขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของสยาม ฝรั่งเศสอ้างหลักฐานทางประวัติศาสตร์สารพัด ระบุว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นของญวนมาก่อน แล้วสรุปเอาแบบดื้อตาใสว่าอาณาเขตตรงนี้ ตรงนั้น และตรงโน้น ก็ต้องตกเป็นของฝรั่งเศสด้วย








การนำกำลังทหารฝรั่งเศสออกไปแสดงความเป็นเจ้าของ ขยายพื้นที่ยึดครองดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้กระทบกระทั่ง เผชิญหน้ากับกำลังทหารและเจ้าเมืองของสยามที่รับราชการอยู่ในพื้นที่นั้นตลอดมา

กำลังรบของฝรั่งเศสที่มีญวนเป็นกำลังหลักยังองอาจผึ่งผายเดินเข้าไปในเขมร สำรวจตรวจสอบพื้นที่ ตั้งใจจะเอาเขมรมาเป็นอาณานิคม





ต้องยอมรับครับว่า ชาวยุโรปในสมัยนั้นมีความรุ่งเรือง สร้างบ้านสร้างเมือง มีความรู้ในด้านต่างๆ รวมทั้งฆ่าฟัน รบกันเองในยุโรป พัฒนาอาวุธหนัก จัดกำลังรบเป็นหน่วย มีการบังคับบัญชา มีระบบการติดต่อสื่อสาร มีแผนที่เดินเรือไปรอบโลกได้ จึงมีศักยภาพเหนือกว่าคนในเอเชียแถวนี้หลายขุม

เหลียวซ้าย แลขวา สยามประเทศมีสภาพเหมือนโดนประกบโดยเสือกับจระเข้ ที่กำลังย่างสามขุมเข้ามาจะกัดกิน

การดวลปืนใหญ่กันระหว่างสยามกับฝรั่งเศสที่ปากน้ำวันนั้น จึงเป็น “นาทีทอง” ของฝรั่งเศสที่จะไม่ปล่อยให้ผ่านไปง่ายๆ

เรือรบ 2 ลำที่บุกเข้ามาได้เทียบท่าหน้าสถานทูตฝรั่งเศสแถวถนนเจริญกรุง กำลังรอคำสั่งจากหน่วยเหนือ

และแล้ว 20 กรกฎาคม 2436 ฝรั่งเศสจึงสั่งทหารจากเรือรบ 2 ลำนี้ขึ้นบกแสดงกำลัง แล้วให้นาย ม. ปาวี ส่งเอกสารยื่นคำขาดตรงต่อรัฐบาลสยามดังนี้

คอเวอนเมนต์ฝรั่งเศสขอเอาจงได้ คือว่า

1.สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามยอมรับว่า กรุงอานาม แลกรุงกัมพูชา มีสิทธิอยู่ในที่ดินฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง แลเกาะทั้งหลายเหล่านั้นด้วย

2.ด่านฝ่ายไทยทั้งหลายที่ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงนั้น เลิกถอนไม่ช้าเกินกว่าเดือนหนึ่ง

3.ความพอใจที่ควรจะได้มีแก่เหตุทั้งหลายที่เกิดขึ้น ณ ทุ่งเชียงคำก็ดี ที่เมืองคำมวนก็ดี แลการที่เข้าต่อตีเรือรบแลทหารเรือของฝรั่งเศสในลำน้ำเจ้าพระยานี้ด้วย

4.การลงโทษผู้ทำผิด แลการทำขวัญเป็นเงินให้แก่พวกญาติพี่น้องของคนผู้ตายแลเจ็บยากทั้งหลายนั้น

5.จำนวนเงินค่าปรับไหมสองล้านฟรังก์ ประมาณหนึ่งหมื่นห้าพันชั่ง สำหรับจะได้ใช้ทำขวัญให้แก่คนฝรั่งเศสทั้งหลายที่ได้รับทุกข์ยากนั้น

6.การฝากไว้โดยเร็วเป็นเงินเหรียญจำนวนเงินสามล้านฟรังก์ ประมาณสองหมื่นสองพันชั่ง เพื่อจะเป็นประกันในการที่จะใช้ค่าทำขวัญแลปรับไหมนี้ ถ้าฝากเงินไม่ได้ ก็จำนำเงินภาษีอากรในหัวเมืองพระตระบองแลเสียมราฐแทน

คอเวอนเมนต์สยามต้องตอบให้ทราบในเวลาช้าอยู่ 48 ชั่วโมง

ผู้เขียนตรวจแล้วตรวจอีก ข้อความภาษาไทย 6 ข้อข้างบน สมัยนั้นใช้การสะกด รูปประโยคตามที่เห็น ไม่ได้พิมพ์ผิดครับ

ขอทำความเข้าใจกันหน่อยเรื่อง ดินแดนโขงฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ครับ

ตามหลักการแบ่งฝั่งแม่น้ำซ้ายหรือขวา โดยสากลให้หันหน้าออกทะเล ดังนั้นสำหรับแม่น้ำโขง ดินแดนลาวจึงอยู่ฝั่งซ้าย สยามอยู่ฝั่งขวา

ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงที่ฝรั่งเศสตัวสั่นอยากได้มานานก็คืออาณาจักรล้านช้าง (คือประเทศลาวในปัจจุบัน) ที่มีเนื้อที่ประมาณ 143,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งในขณะนั้นเป็นดินแดนของสยาม รวมถึงบรรดาเกาะแก่งทั้งหลายในแม่น้ำโขง ฝรั่งเศสจะขอรวบยอดเอาไปทั้งหมด

ผู้เขียนขอนำท่านผู้อ่านย้อนเวลากลับไปดูความระหองระแหงใจที่สั่งสมคุกรุ่นระหว่างสยามกับฝรั่งเศส

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2435 กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมเสด็จไปถึงเมืองหนองคาย ได้รับรายงานว่าฝรั่งเศสส่งกำลังเข้ามาตั้งด่านในเขตแดนไทย เช่น ด่านบ้านตอง เมืองวังคำ ด่านดิ้งเหลา แขวงเมืองพิน และใช้กำลังขับไล่นายด่านสยาม ถือได้ว่าเป็นการรุกรานแผ่นดินสยาม

กรมหลวงประจักษ์ฯจึงทรงสั่งการให้สยามกลับมาตั้งด่านขึ้นใหม่เพื่อตอบโต้ และให้ดูแลพื้นที่ออกไปจนสุดชายแดนติดกับเขตญวน

เหตุการณ์ที่น่ายกย่องตามมาอีกคือ พระยอดเมืองขวางท่านนี้แหละ ที่ไปตรวจเอกสารการเดินทางของพ่อค้าชาวฝรั่งเศส 2 คน และพบว่าเป็นการใช้หนังสือเดินทางของผู้อื่น จึงเชิญออกไปนอกอาณาเขตสยาม ฝรั่ง 2 คนนี้ยังไปสร้างเรื่องเรียกร้องค่าทำขวัญจากสยามจนเป็นเรื่องใหญ่โต

ข้อมูลตรงนี้จะเห็นว่าข้าราชการสยาม ถึงแม้จะอยู่ไกลปืนเที่ยง ก็ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ท่ามกลางความลำบากทั้งกายใจ

ความบาดหมางยังปรากฏต่อเนื่อง นายบาระตอง (Baraton) พ่อค้าฝรั่งเศส เดินทางเข้ามาเมืองหนองคายโดยไม่มีหนังสือเดินทาง ติดต่อขออนุญาตตั้งโรงต้มกลั่นสุราในเมืองหนองคาย ซึ่งขณะนั้นทางการสยามมีนโยบายให้เจ้าเมืองในหัวเมืองลาวพวนต้มกลั่นสุราจำหน่ายแก่ราษฎรเอง เพื่อความสะดวกในการจัดเก็บภาษี จึงไม่อนุญาตและส่งตัวนายบาระตองกลับออกไป

และมีอีกหลายเหตุการณ์ที่สยามขับเคี่ยวกับฝรั่งเศสแบบถึงลูกถึงคน





ทีมา: https://www.yaklai.com/lifestyle/special-article/rattanakosin_era_112_crisis/ 

Bagikan

Jangan lewatkan

ขุดมาเล่า..พระยอดเมืองขวาง(6) วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 เกิดอะไรในสยาม? โดยพลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก
4/ 5
Oleh

Subscribe via email

Suka dengan artikel di atas? Tambahkan email Anda untuk berlangganan.